Note: หลักสูตรแพทย์แผนใจ เข้าใจโลกและชีวิตจิตใจ

เมื่อวันเสาร์ที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา ได้มีโอกาสไปลงทะเบียนศึกษา "ธรรมโฆษณ์" อันเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นที่สวนโมกข์ กรุงเทพฯ จึงอยากจะมาเขียนโน๊ตเล็ก ๆ น้อย ๆ จากการได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว

ก่อนที่จะเข้าเรียนนั้น ผู้เข้าเรียนจะได้รับไฟล์เอกสารประกอบการเรียนในแต่ละครั้ง ซึ่งคอร์สนี้มีทั้งหมด 5 ครั้ง และในแต่ละครั้งก็จะมีการบ้านให้กลับไปทำ ซึ่งหลัก ๆ ก็คือการพัฒนาจิตใจของตนเอง

ในระหว่างการเรียนรู้นั้น จะมีการถาม-ตอบอยู่บ่อย ๆ เป็นคลาสที่ไม่ได้นั่งฟังอย่างเดียว แต่ต้องมีส่วนร่วมด้วย ทำให้เวลาทั้งหมด 6 ชั่วโมงนั้นไม่น่าเบื่อเลย และโอกาสที่จะหลับนั้นค่อนข้างน้อยมาก

จากคลาสสรุปได้ว่า สิ่งที่พระองค์ทรงตรัสรู้นั้นมีเยอะมาก แต่เลือกที่จะมาสอนเฉพาะบางเรื่อง เรื่องที่ท่านไม่สอนคือเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับหนทางแห่งการดับทุกข์ ซึ่งเรื่องที่ไม่สอนนั่นคือเขาเรียก ทิฏฐิทั้ง 10 สำหรับสิ่งที่ท่านสอนนั้น ท่านไม่ได้สอนแก่ทุกคน แต่จะเลือกสอนเฉพาะกับคนที่มี "ธุลีในดวงตาน้อย" เพื่อให้เขาเหล่านั้นได้เข้าถึงหนทางแห่งการดับทุกข์ ซึ่งในที่นี้เขาก็เอามาเปรียบกับคนในคลาสว่าจะมีความเข้าใจมากน้อยแค่ไหน และจะสามารถอยู่ได้จนครบหลักสูตรหรือเปล่า

หลักสูตรนี้ ได้มีการสำรวจผู้เรียนคร่าว ๆ ว่าแต่ละคนมีลักษณะการเรียนรู้อย่างไรบ้าง โดยแบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือ 1. กลุ่มที่มีความศรัทธาเป็นที่ตั้งอยู่และ กับอีกกลุ่ม 2. เป็นกลุ่มที่เรียนรู้โดยอาศัยการคิดวิเคราะห์ ซึ่งผู้สอนแนะนำว่า เราควรจะมีสองอย่างไปพร้อม ๆ กัน กล่าวคือ ถ้าหลังจากเรียนแล้ว ถ้ามัวแต่ลองนำไปใช้อย่างเดียวอาจจะหลงทางได้ ดังนั้นแล้วควรมีการศึกษาในเชิงปริยัติ (พระสูตร) เป็นตัวกำกับไว้ด้วย ขณะเดียวกัน การเรียนรู้ในกลุ่มที่ 2 นั้น ควรจะมีการลงมือทำด้วย มิใช่เพียงแต่นั่งคิดพิเคราะห์อย่างเดียวซึ่งจะทำให้ไม่เกิดการเรียนรู้ทางด้านปฏิบัติ เปรียบก็เหมือนเราต้องการว่ายน้ำ ถ้าเรามัวแต่อ่านหนังสืออย่างเดียว เราก็ว่ายไม่เป็นเสียที ถ้าต้องการที่จะว่ายเป็น เราก็ต้องลงมือทำ

จากนั้นในคลาสก็ให้ทุกคนตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิตต่าง ๆ นานา และให้จดจำคำถามที่ตัวเองได้ตั้งไว้ เพื่อที่เมื่อจบคลาสเรียนแล้วนั้น คำถามข้อนั้นที่เราได้ถามอาจจะได้คำตอบ ผู้สอนได้ยกคำถามยอดฮิตที่คนมักจะถาม ๆ กัน นั่นคือ "คนเราเกิดมาทำไม" จริง ๆ แล้วเมื่อพิจารณาจากคำสอน จะพบเลยว่าการตั้งคำถามแบบนี้ไม่ได้เป็นคำถามที่จะจะนำเราให้ไปสู่หนทางแห่งการดับทุกข์ จริง ๆ แล้วไม่มีการเกิด มีแต่เพียงการประกอบกันของธาตุเท่านั้น ซึ่งก็เชื่อมโยงมาสู่ "ธาตุ6" และเครื่องมือที่จะทำให้เราสามารถเรียนรู้ชีวิตผ่านทางธาตุ6 ได้นั้นก็คือ "ผัสสะ6" ซึ่งการบ้านในส่วนแรกที่ได้ทำ คือ การพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาทางผัสสะทั้ง 6 โดยเขาจะให้ตารางมาว่าในทุก ๆ วันนั้นตั้งแต่วันเริ่มเรียน ช่วง เช้า กลาง วันเย็นได้ เราได้รับรู้อะไรบ้างผ่านทางผัสสะ โดยที่การบ้านตัวนี้จะทำภายในอาทิตย์แรก

ในช่วงบ่ายผู้สอนได้ขึ้นซีรีส์ของคำถาม และถามผู้เรียนว่าในซีรีส์ของคำถามเหล่านี้ คิดว่าคำถามข้อใดที่เรารู้ดีที่สุด 1. ใช้ชีวิตอย่างไร 2. ชีวิตต้องการอะไร และ 3. ชีวิตคืออะไร ถ้าเปรียบเทียบคำถามเหล่านี้เหมือนกับภูเขาน้ำแข็งหนึ่งก้อนอยู่ในมหาสมุทร สิ่งที่คนเราทั่วไปมองเห็นก็คือ ใช้ชีวิตอย่างไร ซึ่งจะอยู่บนยอดของภูเขาน้ำแข็ง ในขณะเดียวกันสิ่งที่อยู่ถัดลงมาอยู่บริเวณใต้น้ำส่วนต้น คือชีวิตต้องการอะไร และส่วนสุดท้ายที่มองเห็นได้ยากสุดคือ ชีวิตคืออะไร ในคลาสคนส่วนใหญ่จะรู้ว่าชีวิตต้องการอะไร แต่ผู้สอนก็ยกประเด็นขึ้นมาว่าแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเราตั้งเป้าหมายของชีวิตได้อย่างถูกต้อง ความจริงที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงก็คือ พระพุทธเจ้าทรงทราบดีอยู่ก่อนแล้วว่าชีวิตคืออะไร ชีวิตนั้นประกอบไปด้วยธาตุ6 เมื่อมีธาตุ ย่อมมีการเกิดผัสสะ เมื่อมีการเกิดของผัสสะ ย่อมมีการเกิดของมโนปวิจาร18 นั่นคือที่เที่ยวไปของจิต ซึ่งปรุงแต่งให้เกิดเวทนา ดังนั้นแล้วการบ้านในช่วงที่สองจึงเป็นการบ้านที่ให้เราสังเกตการเที่ยวไปของจิต โดยจะแบ่งเป็นวัน ๆ และแบ่งไปตามผัสสะทั้ง6ของสิ่งที่ประกอบอันเป็นธาตุ

รูปประกอบการเรียน (บางส่วน)








Comments

Popular posts from this blog

Useful links (updated: 2025-01-10)

Odd ratio - อัตราส่วนของความต่าง

Note: A Road to Real World Impact (new MU-President and Team) - update 12 Sep 2024